อาการเท้าบวมมีได้หลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงสุขภาพของคุณอยู่ สาเหตุมีอะไรบ้าง มาดูกัน
การบาดเจ็บที่เท้าและข้อเท้า
การบาดเจ็บ เช่น ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ เช่น เอ็นข้อเท้า กล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดอาการบวมที่เท้าและข้อเท้าได้
ยืนหรือนั่งนาน ๆ
การยืนหรือนั่งนาน ๆ โดยที่ไม่ได้ขยับตัวบ่อย ๆ กล้ามเนื้อที่บริเวณน่องและข้อเท้าจึงไม่ถูกใช้งานทำให้ไม่สามารถช่วยเส้นเลือดดำในการสูบฉีดเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ เลือดและสารน้ำต่าง ๆ จึงคั่งอยู่ที่ข้อเท้าและเท้า ทำให้เท้าบวม
ตั้งครรภ์
อาการบวมที่เท้าในระหว่างที่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากภาวะฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เนื้อเยื่อมีการดูดซึมน้ำมากกว่าปกติ หรือเกิดจากขนาดของมดลูกที่ขยายตัวไปกดทับหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองทำได้ไม่ดีพอ เกิดการคลั่งอยู่บริเวณเท้า
โรคหัวใจ
อาการบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง ทำให้เลือดจากขาไม่สามารถไหลกลับเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวกจึงทำให้มีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้นและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเท้าบวมนั่นเอง
โรคไต
ไตมีหน้าที่ขับของเสีย ขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย หากไตมีปัญหาจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการบวมได้ ระยะแรกของโรคไตอาจมีอาการบวมที่หนังตาและหน้า ต่อมาจะมีอาการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงให้เท้าบวมได้ เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ยารักษาความดัน ยาสเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด
ภาวะเส้นเลือดดำทำงานได้ไม่ดี
เส้นเลือดแดงทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนเส้นเลือดดำทำหน้าที่นำเลือดกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อไปฟอกที่ปอดอีกครั้ง โดยลิ้นของหลอดเลือดดำหรือวาล์วทำหน้าที่คอยปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับสู่ขา ถ้าวาล์วนี้ทำงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้เลือดไหลย้อนทางลงสู่ปลายขา และทำให้ข้อเท้าและเท้าบวมได้
หากท่านมีอาการเท้าบวมหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
